13 มีนาคม วันช้างไทย
13/03/2568
8

ปก.jpg

 

“ช้าง” สัตว์มงคลคู่บ้านคู่เมือง คู่บารมีพระมหากษัตริย์ไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัยตราบจนปัจจุบัน ตามประวัติศาสตร์ ช้างถูกใช้เป็นพาหนะในการทำศึกสงครามปกป้องประเทศ ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งปรากฏเรื่องราวในพุทธประวัติ พุทธชาดก และงานจิตรกรรม โดยเฉพาะ “ช้างเผือก” ช้างในตระกูลชาติพรหมพงศ์ อิศวรพงศ์ พิษณุพงศ์ หรืออัคนิพงศ์ มักได้รับเลือกให้เป็นช้างในพระราชพิธี เป็นเครื่องหมายแทนพระองค์ ใช้ประดับสิ่งของพระราชทาน รวมถึงใช้เป็นตราสัญลักษณ์บนเหรียญกษาปณ์ไทย

หนึ่งในช้างเผือกที่ปรากฏอยู่บนชื่อและลวดลายของเหรียญกษาปณ์ไทย คือ “ช้างเอราวัณ” หรือ “ไอราพต” มีที่มาจากคำว่า “ไอราวต” หรือ “ไอราวณ” ในภาษาสันสกฤต ช้างเอราวัณรู้จักกันในฐานะพาหนะคู่พระทัยของพระอินทร์ ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีความหมายถึง น้ำ เมฆฝน รุ้ง แปลรวมว่ากลุ่มก้อนเมฆที่มีฟ้าแลบ และทำให้เกิดฝนตก สอดคล้องกับการที่พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณท่องเที่ยวไปบนสวรรค์ แล้วโปรยฝนให้ตกลงมายังโลก ช้างเอราวัณจึงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์และความดีงาม 

ทั้งนี้ ตามตำนานกล่าวว่า ช้างเอราวัณเป็นช้างขนาดใหญ่ ผิวกายขาวหรือเผือกผ่อง มี 33 เศียร แต่ละเศียรมี 7 งา แต่ละงามีสระโบกขรณี 7 สระ แต่ละสระมีกอบัว 7 กอ แต่ละกอมีดอกบัว 7 ดอก แต่ละดอกมีกลีบ 7 กลีบ แต่ละกลีบมีธิดาฟ้อนรำ 7 องค์ แต่ละองค์มีบริวาร 7 นาง แต่ช้างเอราวัณที่ปรากฏในงานศิลปกรรมมีเพียง 3 เศียร เพื่อเป็นการลดรูปทางศิลปะให้มีสัดส่วนที่สมดุลลงตัว

 

ที่มาข้อมูล:

- เว็บไซต์สำนักงานราชบัณฑิตยสภา  http://legacy.orst.go.th

- เว็บไซต์กรมศิลปากร  https://www.finearts.go.th

- เว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ  https://www.erawanmuseum.com

- เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม  https://www.silpa-mag.com

เนื้อหา-01.jpg

เนื้อหา-02.jpg

เนื้อหา-03.jpg

 

author image
Admin
พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดเชียงใหม่

no-popup