#เหรียญเล่าเรื่อง ๓๑ มีนาคม วันมหาเจษฎาบดินทร์
30/03/2567
13
#เหรียญเล่าเรื่อง ๓๑ มีนาคม วันมหาเจษฎาบดินทร์
เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อบ้านเมือง คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันที่ ๓๑ มีนาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เป็น “วันมหาเจษฎาบดินทร์” และในวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “พระมหาเจษฎาราชเจ้า”
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ กับเจ้าจอมมารดาเรียม ทรงมีพระนามเดิมว่า “หม่อมเจ้าชายทับ” เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถได้รับอุปราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ทรงได้รับพระราชทานพระอิสริยศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ เป็น “พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าชายทับ” เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๙ และภายหลังที่สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็น “พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” ในปี พ.ศ. ๒๓๕๖ ทรงกำกับราชการกรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ รวมถึงกรมพระตำรวจว่าความฎีกา ทรงแต่งสำเภาค้าขายกับต่างประเทศ และทรงนำพระราชทรัพย์ที่ได้จากการค้าขายขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถเพื่อทรงใช้ในราชการแผ่นดิน เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ในปี พ.ศ. ๒๓๖๗ ทรงให้ความสำคัญกับการเพิ่มพูนรายได้ของประเทศด้วยการเก็บภาษีควบคู่ไปกับการทำนุบำรุงศาสนาและบ้านเมือง แม้เสด็จสวรรคต ในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ แต่ยังมีเงินเหลือจากการใช้จ่ายของแผ่นดินถึง ๔๐,๐๐๐ ชั่ง ทรงมีพระราชปรารภให้ใช้ทำนุบำรุงวัดที่เสียหายมาตั้งแต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา จำนวน ๑๐,๐๐๐ ชั่ง และอีก ๓๐,๐๐๐ ชั่ง โปรดให้รักษาไว้เป็นค่าใช้จ่ายของแผ่นดินต่อไป กระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงนำมาใช้กอบกู้ประเทศให้พ้นจากวิกฤติข้อพิพาทกับฝรั่งเศส ในเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) เรียกเงินก้อนนั้นว่า “เงินถุงแดง”
ที่มาข้อมูล:
- เว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร https://www.sac.or.th
- เว็บไซต์ทัพเรือภาคที่ ๒ https://www.nac2.navy.mi.th
- หมายกำหนดการ ที่ ๔/๒๕๔๑ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในการถวายพระราชสมัญญา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ราชกิจจานุเบกษา หน้า ๑๙ เล่ม ๑๑๕ ตอนพิเศษ ๒๕ สำนักพระราชวัง วันที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๑
ที่มาภาพ: https://www.pinterest.com