ธนบัตรที่จัดพิมพ์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศขาดแคลนธนบัตร รัฐบาลสมัยนั้น จึงดำเนินการจัดพิมพ์ธนบัตรขึ้นใช้เอง และใช้วัสดุที่หาได้ภายในประเทศ คือกระดาษจากโรงงานกระดาษไทย จังหวัดกาญจนบุรี โดยมอบหมายให้กรมแผนที่ทหารบก กรมอุทกศาสตร์ เป็นผู้จัดพิมพ์ ธนบัตรรุ่นนี้จัดพิมพ์ทั้งสิ้น 4 ชนิดราคา ได้แก่ 1 บาท 10 บาท 20 บาท และ 100 บาท เริ่มทยอยออกใช้เมื่อ พ.ศ. 2485 ยกเว้นธนบัตร ชนิดราคา 100 บาท ซึ่งจัดพิมพ์เพิ่มในภายหลังและประกาศออกใช้เมื่อ พ.ศ. 2487 ลวดลายบนธนบัตรด้านหน้าเป็นภาพพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงเครื่องแบบจักรีอยู่เบื้องซ้าย ตรงกลางเป็นภาพซุ้มประตูยอดมงกุฎ วัดอรุณราชวราราม มีรูปไอราพตอยู่ที่มุมขวาล่าง หมวดอักษรและหมายเลขพิมพ์ด้วยหมึกสีแดง ด้านหลังเป็นภาพพระที่นั่ง อนันตสมาคม มีข้อความแจ้งโทษของการปลอมแปลงธนบัตรที่ขอบด้านล่าง มีการประทับตราพระสยามเทวาธิราชด้วยหมึกแดงพร้อมหมวดอักษรและหมายเลขตรงกับด้านหน้าเพื่อใช้ตรวจพิสูจน์เนื่องจากเป็นธนบัตรราคาสูง และมีคำว่า “กรมแผนที่” ที่ขอบล่างของธนบัตรทั้งสองด้าน ธนบัตรรุ่นนี้มีการสะกดคำตามชุดตัวอักษรไทยใหม่ตามมติคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษา โดยมีการปรับลดจำนวนสระและพยัญชนะให้เหลือน้อยลง เพื่อให้ภาษาไทยง่ายขึ้น จึงปรากฎคำว่า “รัถบาลไทย” และคำอื่น ๆ ที่สะกดด้วยพยัญชนะที่เข้าใจง่าย ซึ่งเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ก็ได้ยกเลิกชุดตัวอักษรดังกล่าว และกลับมาใช้ภาษาไทยอย่างเดิม